เมื่อวานนี้ (27 พฤศจิกายน 2560) นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน นำคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดโครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซชีวภาพรูปแบบไบโอมีเทนอัด (CBG) ในภาคขนส่ง ขยายผลการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียและกากตะกอนปาล์มสู่พลังงานทดแทนที่สะอาดและยั่งยืน
นายธรรมยศ ศรีช่วย เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ของบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด เป็นโครงการที่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนและยุทธศาสตร์การสร้างความมั่งคงด้านพลังงานของกระทรวงพลังงาน ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ทำการสนับสนุนการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซและระบบบรรจุก๊าซไบโอมีเทนอัด ให้กับสถานประกอบการที่มีระบบก๊าซชีวภาพ
นอกจากนี้ได้กล่าวขอบคุณบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากในครั้งนี้บริษัทได้รับการสนับสนุนเพียงร้อยละ 30 ของเงินลงทุน และไม่เกิน 9 ล้านบาท บริษัทต้องลงทุนอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 หากผู้บริหารของบริษัทไม่เห็นความสำคัญของการนำก๊าซชีวภาพที่เหลือใช้มาปรับปรุงคุณภาพให้เกิดประโยชน์ ก็คงยังไม่มีโรงงานต้นแบบผลิตไบโอมีเทนอัดเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย
ด้านนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี พ.ศ.2559 พพ. ได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพอยู่แล้วหรือผู้ที่สามารถจัดหาก๊าซชีวภาพได้เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด ในสถานประกอบการที่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพ” โดยสนับสนุนการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซและบรรจุก๊าซไบโอมีเทนอัด
“บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด เป็นโครงการแรกที่ได้ติดตั้งระบบผลิต CBG ขนาด 3 ตันต่อวัน แล้วเสร็จ และได้เริ่มดำเนินการใช้ประโยชน์ CBG ที่ผลิตได้กับรถบรรทุกของบริษัท ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นมา ก๊าซ CBG ที่ผลิตได้มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยมีการนำไปทดสอบตามประกาศเกณฑ์คุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ของกรมธุรกิจพลังงาน จำนวน 9 รายการ และทดสอบเพิ่มเติมตามมาตรฐานกำหนดคุณภาพก๊าซ ไบโอมีเทนอัดในต่างประเทศ (สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน) อีก 8 รายการ รวมเป็น 17 รายการ ผลการทดสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดทุกรายการ ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ สถานีบริการก๊าซธรรมชาติจากกรมธุรกิจพลังงานเรียบร้อยแล้ว” อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าว
ขณะที่ ดร.กณพ เกตุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเกษตรลุ่มน้ำ จำกัด กล่าวว่า บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ประกอบธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีกำลังการผลิต 60 ตันปาล์มต่อชั่วโมง และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ โดยน้ำเสียและกากตะกอนปาล์มที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม จะนำเข้าสู่บ่อหมักก๊าซชีวภาพจำนวน 4 บ่อ มีกำลังผลิตก๊าซ 17,683 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก๊าซชีวภาพที่ได้นั้น เมื่อนำไปผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์แล้ว ยังมีก๊าซที่เหลือใช้ บริษัทฯ จึงได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนแบบอัด (CBG) ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำก๊าซที่เหลือใช้มาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์
“ก๊าซชีวภาพที่มีความเข้มข้นของมีเทน 55% จะผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพด้วยเทคโนโลยี PSA ร่วมกับ Membrane เพื่อกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์รวมถึงการลดความชื้น จนได้ก๊าซ CBG ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในปัจจุบันนี้ โครงการมีกำลังการผลิตวันละ 3,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าก๊าซวันละ 47,910 บาท (ก๊าซ NGV ราคากิโลกรัมละ 15.97 บาทที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) และได้นำก๊าซ CBG ที่ผลิตได้ไปใช้ในรถบรรทุกจำนวน 19 คันของบริษัทอาร์เอทีขนส่งซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพื่อขนส่งน้ำมันปาล์มไปยังจังหวัดชุมพรและจังหวัดชลบุรี และในอนาคต จะเปิดให้บริการกับรถทั่วไปหลังจากใช้เป็นการภายในเพียงพอแล้ว” ดร.กณพ กล่าวในตอนท้าย
โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนแบบอัด (Compressed Bio-Methane Gas) หรือ CBG บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้เกิดการใช้ CBG ที่มีประสิทธิภาพ ประมาณ 4,800 ตันต่อวัน ในปี 2579 เพื่อลดการใช้น้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ที่มีข้อจำกัดในหลายพื้นที่ซึ่งไกลจากสถานีแม่หรือแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการผลิต CBG ดังกล่าวจากน้ำเสีย/ของเสียจากโรงงาน ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะผลิต CBG เพื่อใช้ในภาคขนส่ง เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด (CBG) ของบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ยังเป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีของเอกชนไทย-ญี่ปุ่นด้วย โดยบริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ได้ร่วมมือกับ บริษัท โอซาก้าแก๊ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแก๊สขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศญี่ปุ่น ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบก๊าซชีวภาพเป็นก๊าซ CBG ได้เป็นผลสำเร็จ จนสามารถเปิดเป็นสถานีบริการก๊าซ CBG แห่งแรกของภาคใต้ด้วย