“ระบบส่ง” เส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานไฟฟ้า เชื่อมโยงทุกความสุขของคนในประเทศ

จากแสงเทียน..แสงตะเกียง..สู่แสงแรกแห่งสยาม…

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไฟฟ้าแสงแรกแห่งสยามเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2427 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  จากนั้นปี 2440 โรงไฟฟ้าเอกชนแห่งแรกของไทยที่วัดเลียบเริ่มเปิดดำเนินการ ครั้นปี 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งการไฟฟ้าหลวงสามเสนขึ้น นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกที่ดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตพระนคร ต่อมาปี 2472 กิจการไฟฟ้าในต่างจังหวัดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่สุขาภิบาลเมืองราชบุรีและนครปฐม   จนมาถึงปี 2500 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2503 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง “การลิกไนท์” โดยมีอำนาจดำเนินการในเขตจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และตาก  จวบถึงปี 2505 รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ “การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ”ขึ้นตามลำดับ

ก้าวแรกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ถือกำเนิดขึ้นจากรวมกิจการระหว่าง การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนท์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 รวมถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 48 ปี

การเดินทางของเส้นทางไฟฟ้าในประเทศไทยได้ผ่านกาลเวลามามากกว่าศตวรรษ เข้าสู่ยุคใหม่สมัยโลกไร้พรมแดน ที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม  ล้วนกล่าวได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับ“วิวัฒนาการด้านพลังงานไฟฟ้า”ทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยการผสมผสานของภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี “พลังงานไฟฟ้า”จึงเป็นสิ่งจำเป็นระดับต้นๆของวิถีชีวิตปัจจุบัน นอกจากนี้พัฒนาการด้านพลังงานไฟฟ้ายังมีส่วนผลักดันในการเปลี่ยนแปลงมิติอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งด้านการแพทย์สาธารณสุข  การคมนาคม  การศึกษา การท่องเที่ยว และการสื่อสาร

โดยเส้นทางแห่งการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ยังคงต้องเคลื่อนไหว..ก้าวไป..ด้วยกลไกแห่งการสร้างสรรค์คุณภาพ ที่พร้อมส่องแสงอันสว่างไสว จากแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่หลากหลายเชื้อเพลิง เชื่อมโยงผ่านด้วยสายใยของ “ระบบส่งไฟฟ้า”

ดังนั้น “ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ.” นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ “เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งพลังงานไฟฟ้า ที่เชื่อมโยงกันอยู่ทุกทิศทั่วไทย” ทำหน้าที่ส่งนำพากระแสไฟฟ้าจากระบบผลิตไปยังระบบจำหน่าย คือการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจะปรับขนาดแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ทุกภาคส่วนทุกครัวเรือนอย่างเหมาะสมต่อไป

จากเสาส่งไม้ซุง…สู่เสาส่งโครงเหล็ก…ปัจจุบันสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. มีความยาวรวมกันกว่า 33,300 วงจรกิโลเมตร โดยมีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น สายส่งระดับแรงดันไฟฟ้า 115,000 โวลต์ 230,000 โวลต์ และ 500,000 โวลต์  ซึ่งถ้านำมาโยงตามแนวขอบเขตแดนประเทศไทยจะได้เกือบ 4 รอบ

นอกจาก “สายส่งไฟฟ้า” ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ของ “ระบบส่งจ่ายไฟฟ้า” ได้แก่ เสาไฟฟ้าซึ่งประกอบด้วยโครงเหล็กและลูกถ้วย  หม้อแปลงไฟฟ้า  ลานไกไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแรงสูง   โดยมี “ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า”เป็นหน่วยงานที่บริหารการเดินเครื่อง“ผลิตไฟฟ้า”ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งในระบบ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ให้ได้สมดุลกับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ จาก“เชื้อเพลิง”ประเภทต่าง ๆ อันประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีเซล และน้ำมันเตา ตลอดจนพลังน้ำ พลังลมและพลังงานจากแสงอาทิตย์   พร้อมควบคุมการจ่ายไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ “ไฟฟ้าไม่ดับ – ไฟฟ้าไม่ตก” ตามหลักมาตรฐานสากล

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งการผลิตไฟฟ้าต้องกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสม โดยไม่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป เพื่อให้ระบบไฟฟ้าไทยมีความเพียงพอ สมดุล และมั่นคงระยะยาวอีกด้วย